วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เจ้าพ่อการตลาด

กราบเรียน ผศ.ดร.สุเทพ  อ่วมเจริญ ที่เคารพรักอย่างสูง
                
   จากที่อาจารย์ได้มอบหมายให้วิเคราะห์เรื่องเจ้าพ่อการตลาดโดยใช้หลักการของหลักสูตรมาวิเคราะห์นั้น ดิฉันขอสรุปและวิเคราะห์ตามหลักดังนี้

 นิยายเรื่อง  เจ้าพ่อการตลาดเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดย ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการแต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
 1. เป็นกำลังใจ เพื่อนักขายและนักการตลาดทั้งหลาย ให้มองอะไร ให้กว้างและไกล คิดอะไรให้ลึกใน
    ขณะที่ไต่บันไดชีวิตการตลาดของตนอยู่
 2. บอกกล่าวให้ผู้น้อยเนื้อต่ำใจทุกคน ว่ายังมีหนทางก้าวหน้าอยู่เสมอ ถ้าคุณช่วยตนเอง และเป็นคนดีอย่าง   
    ฯพณฯสมชาย 
3. เป็นเรื่องราวสำหรับอ่านประกอบ เสริมประสบการณ์ทางการตลาดของนักเรียน ที่กำลังศึกษาด้านนี้ เพื่อ
   สะท้อนประสบการณ์ และข้อสังเกตทางการตลาดในชีวิตจริง
               ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนแนวคิด และดำเนินเรื่องตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ข้างต้นผ่านตัวละครหลักที่ชื่อว่า สมชายได้อย่างน่าติดตาม อย่างไรก็ดีในมุมมองของผู้อ่านย่อมมีสิทธิที่จะวิเคราะห์และตีความไปได้หลากหลายตามแต่พื้นฐานความรู้ หรือหลักคิดของแต่ละบุคคล
                        ผู้แต่งได้นำเสนอแง่มุมต่างๆ ผ่านประสบการณ์ชีวิตของสมชาย จากเด็กชายสมชายซึ่งอาศัยอยู่กับแม่โดยไม่เคยเห็นหน้าพ่อที่จังหวัดสงขลา ด้วยฐานะที่ยากจนในวัย 10ปี   เขาต้องมาอาศัยอยู่กับลุงกำนันและป้าพี่สาวของแม่ที่เป็นครูที่โรงเรียนฝรั่งที่กรุงเทพ  สมชายได้รับการศึกษาชั้น ม.1- ม.จากโรงเรียนดังกล่าว หลังจากจบ   ม. 8 ด้วยความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ทำให้เขาได้ทำงานเป็นเซลล์แมนที่บริษัทฝรั่ง และด้วยความที่สมชายเป็นคนที่มีความขยัน มุมานะ อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ ทำให้มีเพื่อนฝูงมากมาย โดยเฉพาะและการมองกว้าง คิดไกล ในการทำธุรกิจ  การวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยทั้งของตนเอง และของคู่แข่งในทางธุรกิจ ทำให้สมชายได้รับโอกาสและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและเพื่อนๆในการบริหารธุรกิจจากธุรกิจขนาดเล็กจนถึงการบริหารประเทศปาซีเฟียในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเขาได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนทางด้านการบริหารธุรกิจที่ประเทศอังกฤษและประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศจนสามารถเป็นผู้นำที่มีอำนาจต่อรองในสมาคมอาซียนและก้าวสู่  คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและจัดระเบียบของโลกเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศและปัญหาสังคมแต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตเขากลับประเทศไทยมาใช้ชีวิตใต้ร่มกาสวพัตร บวชเป็นพระในจังหวัดบ้านเกิด ผู้เขียนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทางการตลาด การทำธุรกิจผ่านสมชายตัวเอกของเรื่อง และจากการอ่านได้รับความรู้ในเรื่องการต่อตั้งสมาคมอาเซียน เทคนิควิธีในการทำการค้า เล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงการรักษาผลประโยชน์ตั้งแต่ระดับบริษัทจนถึงระดับประเทศ ด้วยข่าวสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการทำจัดทำแผนกลยุทธ์ ทำให้เข้าใจคำพูดที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”  นอกจากนั้นได้เรียนรู้การพัฒนาบุคลิกภาพ  ความต้องการของมนุษย์ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร การสร้างแรงจูงใจ การสร้างมนุษยสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสาร และสิ่งสำคัญคือ การเป็นผู้บริหารที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากประโยชน์ส่วนตน ซึ่งความรู้ต่างๆ นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองและการบริหารธุรกิจ
                เรื่องเจ้าพ่อการตลาด ของไกรฤทธิ์  บุณยเกียรติ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาทางการศึกษาคือ ปรัชญาสาขาอัตถิภาวนิยม หรืออัตนิยม หรือสวภาพนิยม (Existentialism) ปรัชญานี้เกิดจากทัศนะเคอการ์ด(Soren Kierkegard) และสาตร์ (Jean Paul Sartre) ปรัชญานี้ให้ความสนใจที่ตัวบุคคล หรือความเป็นอยู่ มีอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมักถูกละเลย ซึ่งพวกเขามีความคิดเห็นว่าสภาวะโลกปัจจุบันนี้มีสรรพสิ่งทางเลือกมากมายเกินความสามารถที่มนุษย์เราจะเรียนรู้ จะศึกษา และจะมีประสบการณ์ได้ทั่วถึง ฉะนั้นมนุษย์เราควรจะมีสิทธิ์หรือโอกาสที่จะเลือกสรรพสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองมากกว่าที่จะให้ใครมาป้อนหรือมอบให้ จากแนวความคิดดังกล่าว พวกอัตถิภาวนิยมจึงมีความเชื่อว่าเป้าหมายของสังคมนั้นต้องมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้คนเรามีอิสรภาพ และมีความรับผิดชอบ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพยายามเปิดโอกาสหรือยอมให้ผู้เรียนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเป็นผู้เลือกเอง ครูเป็นเพียงผู้กระตุ้น และปรัชญานี้มีความเชื่อว่า ธรรมชาติของคนก็ดี สภาพแวดล้อมทางสังคมก็ดีเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว คนแต่ละคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้ เพราะมีอิสระในการเลือกทุกสิ่งทุกอย่างไม่อยู่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพราะเชื่อว่าความจริง (Truth) เป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ สาระความจริงก็คือ ความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ (existence) ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง โดยการเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “existential situation” ซึ่งบุคคลแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญาสาขาอัตถิภาวนิยมมีดังนี้
 1. เน้นเอกัตบุคคลเป็นสำคัญ 
 2.คำนึงถึงความแตกต่างส่วนบุคคล จึงทำให้แนวคิดที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้สึกว่าตนเองประสบ 
   ความสำเร็จ
 3.ปรัชญานี้ความสำเร็จมุ่งส่งเสริม 4 ประการ คือ การพัฒนาตนเอง อิสรภาพ การเลือกและความรับผิดชอบ
 เรื่องเจ้าพ่อการตลาด อยู่ในสังคมยุคทุนนิยม  จากเนื้อหาของเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าจะเป็นการเขียนถึงการค้าขายตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริษัทการค้าเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น การขายผงซักฟอง ขายนมข้นหวาน ขายน้ำมันพืช เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการแข่งขันกันทางตลาด ซึ่งจากเนื้อหาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เอกชนนั้นเข้ามามีบทบาทในประเทศ มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ กล่าวคือ ระบบทุนนิยม หมายถึง เป็นระบบเศรษฐกิจที่ซึ่งผลิตภัณฑ์และสินค้ามีการจำหน่าย แลกเปลี่ยนซื้อขายโดยทางเอกชน บริษัท หรือกลุ่มธุรกิจ เพื่อสร้างผลกำไรให้กับหน่วยงาน โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าและการบริการ ที่มีการรองรับทางกฎหมายและมีการแข่งขันการในเชิงการค้าเพื่อทำกำไรสูงสุด ซึ่งไม่ได้ควบคุมโดยหน่วยงานกลางหรือจากทางรัฐบาล

    นอกจากนี้ถ้าจะวิเคราะห์ในด้านปรัชญาทางการศึกษาแล้วแล้ว สามารถเปรียบเทียบให้แง่คิดในเรื่องความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ (Abraham H. Maslow) ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ว่าไม่มีที่สิ้นสุด โดยจะเริ่มจากความต้องการจากขั้นต่ำไปยังระดับสูงสุด เมื่อความต้องการในระดับหนึ่งได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ก็จะมีความต้องการอื่นในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ซึ่งสมชายตัวเอกของเรื่องเป็นไปตามลำดับขั้นจากขั้นต่ำสุดไปถึงสูงสุด ตามที่Maslow แบ่งระดับความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
1. ความต้องการทางร่างกาย (Physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อความอยู่รอด เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อากาศ น้ำดื่ม การพักผ่อน เป็นต้น
2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (Security or safety needs) เมื่อมนุษย์สามารถตอบสนองความต้องการทางร่างกายได้แล้ว มนุษย์ก็จะเพิ่มความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เช่น ความต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน
3. ความต้องการทางสังคม (ความผูกพันหรือการยอมรับ) ( Social Needs) เป็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่น ความต้องการให้และได้รับซึ่งความรัก  ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ  ความต้องการได้รับการยอมรับ การต้องการได้รับความชื่นชมจากผู้อื่น เป็นต้น
4. ความต้องการชื่อเสียง (Esteem needs) หรือ ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นความต้องการการได้รับการยกย่อง นับถือ และสถานะจากสังคม เช่น ความต้องการได้รับความเคารพนับถือ ความต้องการมีความรู้ความสามารถ เป็นต้น
5. ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (self-actualization) เป็นความต้องการสูงสุดของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้สำเร็จความต้องการทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เป็นต้น

            สำหรับลักษณะเด่นของสมชายนอกจากมีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศซึ่งมนุษยสัมพันธ์หมายถึง กระบวนการครองใจคน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในการปฏิสัมพันธ์ ความรักใคร่ความผูกพัน ความเข้าใจ รวมถึงความร่วมมือร่วมใจกัน ในการอนุเคราะห์ช่วยเหลือซี่งกันและกันให้ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งหลักการของการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีคือ จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่นการที่สมชายได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนๆเพราะเป็นคนใจกว้าง รู้จักการให้และไม่เอาเปรียบผู้อื่น ทำให้เขาเป็นคนมีเพื่อนมาก และจากประสบการณ์ชีวิตของสมชาติเขาได้ดีเพราะคบคนเก่งและมีประโยชน์ตลอดมา โดยเฉพาะเพื่อนร่วมชั้นเรียนของการเรียนหลักสูตร  Master of Management ที่เป็นจอมยุทธทางการบริหาร คือ เส้นสายทางการติดต่อค้าขายระดับอินเตอร์ เขาให้ความสำคัญกับเพื่อนๆ ด้วยการจดจำชื่อ การทักทาย และจดจำจุดเด่นของเพื่อนๆ
            
          ความซับซ้อนของทุนนิยมยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจอีกมาก อีกทั้งแง่มุมต่างๆ ผลกระทบของทุนนิยมต่อวิธีชีวิตของมนุษย์และสังคม ก็ยังคงเป็นเรื่องที่เรายังไม่สามารถหาคำตอบได้ทั้งหมด แต่ด้วยชีวิตในโลกยุคปัจจุบันที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเราอยู่ในโลกยุคทุนนิยม การทำความรู้จักและพยายามทำความเข้าใจกับโลกทุนนิยมที่เราอาศัยอยู่ คงจะทำให้เราอยู่บนกับมันอย่างรู้เท่าทันและระแวดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อด้านมืดของมัน รวมทั้งสามารถเก็บเกี่ยวและใช้ด้านดีของมันเพื่อประโยชน์ของตัวเองและสังคมก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย  ท้ายสุดจากการอ่านนวนิยายเรื่องเจ้าพ่อการตลาดนอกจากได้ข้อคิดตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังได้ข้อคิดตามหลักไตรลักษณ์ของศาสนาพุทธ ที่กล่าวถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายถึง สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ซึ่งสมชายก็เข้าใจในสัจจธรรมนี้
                                                                                                               
                                                                                                                               
                                                                                        นางสาวพรนภัส  ทับทิมอ่อน
                                                                                        รหัส  57254909
                                                                                        สาขาหลักสูตรและการสอน

                                                                                       กลุ่มการสอนภาษาอังกฤษ

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เรื่องไม่เล็กของเด็กชายขอบ กับการสร้างกระบวนการเรียนรู้วิทย์แบบบูรณาการ

               
บนผืนดินถิ่นทุรกันดารตามแนวรอยต่อพรมแดนไทย-พม่า จังหวัดตาก ยังมีเด็กเยาวชนชายขอบจำนวนมากที่รอคอยความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อคืนโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยก้าวข้ามผ่านมิติที่แตกต่างทางภาษา ชาติพันธุ์ ระยะทางที่ห่างไกล และความเหลื่อมล้ำใด ๆ
        สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ริเริ่ม “โครงการบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีปฐมวัย” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เพื่อร่วมเป็นกำลังสนับสนุนโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวทางการจัดอบรมครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ให้มีทักษะการจัดกิจกรรมบูรณาการสหวิชา ตลอดจนสนับสนุนสื่ออุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านกระบวนการสืบเสาะ  4   ขั้นตอน ได้แก่ การตั้งคำถาม การสำรวจตรวจสอบ การตอบคำถาม และนำเสนอผลการสำรวจตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง
        “วิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการแสวงหาคำตอบและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งครูสามารถใช้สิ่งแวดล้อมรอบตัว มาสร้างกิจกรรมการเรียนการสอนโดยไม่ต้องมีห้องทดลองหรืออุปกรณ์ไฮเทคใด ๆ ขอเพียงให้เด็กได้ฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ การสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ และสรุปความรู้ ซึ่งเด็กสามารถนำไปใช้แก้ปัญหากับทุกเรื่องที่ต้องเผชิญต่อไปในอนาคต” ดร.เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าว
        ในแต่ละปี สสวท. จะมีการจัดอบรมครูจากโรงเรียนในโครงการฯ ปีละ 1 ครั้ง ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 วัน ซึ่งครูที่ผ่านการอบรมจะถูกพัฒนาเป็นครูแกนนำเพื่อไปขยายผลต่อในพื้นที่ โดยคณะนักวิชาการจากสสวท. จะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับศึกษานิเทศก์ในการติดตามผลว่า ครูได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาที่พบเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงต่อไป
               
เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต2  ถือเป็นโมเดลที่ใหญ่ที่สุด และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เพิ่งนำโครงการฯ ของสสวท.  เข้าสู่พื้นที่เมื่อปี 2552 โดยโครงการฯ ถูกขยายผลสู่โรงเรียนระดับอนุบาลทุกโรงเรียน ครอบคลุมทุกพื้นที่ การส่งครูผู้สอนเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้มีครูแกนนำทั้งหมด 35 คน การจัดโครงการ “คาราวานเสริมสร้างเด็ก” เพื่อพัฒนาความรู้ของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยให้มาเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ซึ่งโรงเรียนจะคอยติดตามว่า ผู้ปกครองได้นำกิจกรรมไปกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กที่บ้านหรือไม่
“จากผลการประเมินของสปศ. หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เด็กของเราจะอ่อนด้อยในทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อนำกระบวนการของสสวท.เข้ามาปรับใช้ ทำให้การประเมินมาตรฐานตามปีงบประมาณ 2554 เราส่งโรงเรียนระดับปฐมวัยเข้ารับการประเมิน 13 โรง ก็ผ่านการประเมินครบทุกโรงเรียน”  นายทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2  กล่าว
อย่างไรก็ตาม นางกันยารัตน์ บุญมาลีรัตน์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ยอมรับว่า แรกดำเนินการประสบกับปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาการสื่อสารทางภาษาเนื่องจากเด็กเกือบทั้งหมดเป็นเด็กชนเผ่า ผู้ปกครองก็เป็นชนเผ่า ปัญหาครูผู้สอนที่ไม่ได้จบด้านปฐมวัยมาโดยตรง จึงไม่มีพื้นฐานจัดกิจกรรม หรือความรู้จิตวิทยาเด็ก เกิดความสับสนเมื่อต้องรับผิดชอบทั้งกิจกรรมการเรียนการสอน 6 กิจกรรมหลัก (ได้แก่ กิจกรรมการเคลื่อนไหว กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเกมส์การศึกษา และกิจกรรมเสริมจากสสวท.) จนเมื่อได้รับการอบรมก็เข้าใจว่า เป็นแผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการเสริมเข้าไปใน 6 กิจกรรมหลักที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้ครูมีองค์ความรู้ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถต่อยอดกิจกรรมตามสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตน
 “เราได้เห็นพัฒนาการเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ อย่างชัดเจนถึง 4 ด้านภายหลังนำโครงการนี้เข้ามา คือ ด้านร่างกาย เด็กมีการเคลื่อนไหว ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ตลอดเวลา ด้านสังคม เด็กมีการทำงานร่วมกัน มีพัฒนาการทางสังคมในการอยู่ร่วมกัน รู้จักเคารพกฎ-กติกา ด้านครอบครัว มีการพูดคุย และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง และด้านสติปัญญา เด็กค้นหาและค้นพบองค์ความรู้ด้วยตัวเอง แทนที่จะรอครูบอกเพียงอย่างเดียว” นางกันยารัตน์ กล่าว
                                 
ตามหาใบไม้...ที่บ้านแม่สลิดหลวงวิทยา
        กิจกรรมการเรียนรู้จากใบไม้ที่โรงเรียนบ้านสลิดหลวงวิทยา ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมบูรณาการที่ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการสังเกตและวาดภาพใบไม้ ต่อยอดสู่การเรียนรู้เรขาคณิตจากรูปทรงของใบไม้ ตลอดจนช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีในการพิมพ์ลายใบไม้ให้เป็นศิลปะบนผืนผ้าอย่างง่าย ๆ
        “เดิมเด็กไม่ได้ลงมือปฏิบัติก็ไม่ค่อยสนใจเรียน เสียสมาธิง่าย อีกอย่างเด็กอนุบาลที่นี่เป็นเด็กชาวเขา 100 เปอร์เซนต์ ครูก็สื่อสารยากเพราะไม่เข้าใจภาษาถิ่น เด็กก็ไม่เข้าใจภาษาไทย ต้องมีครูภาษาถิ่นเข้ามาช่วย โชคดีที่มีเด็กบางคนรู้ทั้งสองภาษาก็จะช่วยเพื่อน บางทีก็ช่วยครูด้วยเหมือนกัน” ครูโสรดา พลเสน คุณครูอนุบาล 2/1 เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ผ่านมา “แต่พอนำเอาวิธีการสอนของสสวท. มาใช้ เราก็บูรณาการวิชาภาษาไทยเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งวิชา ทำให้เด็ก ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับครูมากขึ้น กระตือรือล้น กล้าคิด กล้าแสดงออกมากกว่าเดิมที่ต้องรอให้ครูบอกเพียงอย่างเดียว”
                           
แม่ละเมา...เขาชวนล่องแก่ง
        อีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กชายขอบให้สามารถ “ล่องแก่งอย่างไรให้ปลอดภัย” ซึ่งสอนเด็ก ๆ รู้จักและเรียนรู้ถึงประโยชน์อุปกรณ์ที่ใช้ในการล่องแก่ง เช่น ไม้พาย หมวกกันน็อค เสื้อชูชีพ และวิธีการล่องแก่งที่ปลอดภัย จากการสังเกต คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เพียงเป็นการสอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศิลปะแล้ว ยังปลูกฝังแนวทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และรักในถิ่นเกิดของตนเอง
ครูพัชรา อังกูรขจร ครูวิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนบ้านแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้พ่อแม่เด็กหลายคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ๆได้กลายมาเป็นแกนนำผู้ปกครอง และสามารถจัดตั้งเป็น “เครือข่ายพ่อครู-แม่ครู” ถึง 12 กลุ่มเครือข่าย มาอาสาช่วยสอนและจัดกิจกรรมกับโรงเรียน ผู้ใหญ่หลายท่านในชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ก็มาช่วยกัน ซึ่งช่วยแบ่งเบาปัญหาครูขาดแคลนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“เนื่องจากผู้ปกครองหรือครูบางท่านไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง ดังนั้น ก่อนทำกิจกรรม เราจะมาประชุมกันก่อนเพื่อสรุปว่ากิจกรรมแต่ละชุด เด็กจะต้องเรียนรู้คำสำคัญหรือคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง ทุกฝ่ายจะได้เข้าใจตรงกันและดำเนินกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกัน”
        แม่ครูทัศวรรณ ปู่ลมดี ผู้ปกครองจิตอาสาในเครือข่ายพ่อครู-แม่ครูท่านหนึ่ง ยืนยันว่า การที่พ่อแม่ร่วมดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ว่า ลูกเรามีความบกพร่องหรือด้อยในด้านใด ที่สำคัญคือ พ่อแม่ได้ตระหนักว่า จะปล่อยให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ เป็นภาระของครูทั้งหมดไม่ได้ เพราะเวลาของเด็กส่วนใหญ่นั้นอยู่ที่บ้าน จึงเป็นเรื่องดีที่โรงเรียน พ่อแม่ และชุมชน จะมาช่วยกันหาวิธีการศึกษา หรือช่วยกันตอกย้ำซ้ำทวนสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้มา ซึ่งเราสัมผัสได้เลยว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นมาก ครอบครัวก็อบอุ่นเพราะได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น
“ตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากเด็กปฐมวัยให้จัดการเรียนการสอนแบบนี้ เมื่อเขาขึ้นสู่ระดับประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งเราคงเริ่มที่ระดับประถมศึกษาก่อน ถ้าหาก สสวท. สามารถขยายกิจกรรมลักษณะนี้ไปจนถึงประถมศึกษา 3 เท่ากับเด็กจะมีเวลาฝึกฝนกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึง 5 ปี ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมพอในการปลูกฝังเด็กให้เป็นคนมีจิตวิทยาศาสตร์ ที่ติดตัวไปกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กบางคนอาจกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของประเทศก็เป็นได้” ผอ.ทองสุข สรุปทิ้งท้าย
แหล่งที่มา : 
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)